Container Icon

การปลูกคล้า

คล้า (Khla)

คล้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคล้า 7 ข้อ (ต้นแหย่ง)

คล้า 
 

ต้นคล้า

ต้นคล้า ชื่อสามัญ Catathea, Siver Catathea[4] คล้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.[2] บ้างระบุว่าชื่อวิทยาศาสตร์คือ Donax arundastrum[1], Lour-Clinogyma dichotoma[1] จัดอยู่ในวงศ์ Marantaceae[2] บ้างว่าอยู่ในวงศ์ Uarantaceae[1]
สมุนไพรคล้า ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า คลุ่ม (เกาะช้าง), คลุ้ม (ภาคตะวันออก), แหย่ง (ภาคเหนือ), ก้านพร้า คล้า (ภาคกลาง), คล้าย (ภาคใต้), บูแมจีจ้ะบะแม เบอร์แม ( มลายู-นราธิวาส), บูแมจี่จ๊ะไอย์ (มลายู-ปัตตานี), บูแมจีจ้ะ ไอ (มลายู), คล้าใบเงิน, คล้ากั้นแหย่ง เป็นต้น[1],[2],[4],[5]

ลักษะของต้นคล้า
  • ต้นคล้า หรือ ต้นแหย่ง จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือเป็นไม้ยืนต้นที่มีเนื้ออ่อน เจริญเติบโตขึ้นเป็นพุ่มหรือเป็นกอและมีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งแบบตั้งตรงและเป็นแบบเลื้อย มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน สามารถแตกหน่อได้ ลำต้นกลมเป็นสีเขียวเข้มออกเป็นข้อๆ และมีข้อปล้องยาว หากรวมทั้งก้านและใบจะมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 2-4 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในที่เป็นน้ำหรือเป็นโคลนตามริมคลอง ริมสระหรือตามลำธาร มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคตามริมห้วยหรือตามหุบเขาที่มีความชุ่มชื้น ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร และมักจะพบได้มากทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และในจังหวัดจันทบุรี[1],[2],[3],[5]
ต้นคล้า
  • ใบคล้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาวหรือเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-35 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ มักมีลวดลายและสีสันบนใบที่สวยงาม โคนต้นมีกาบใบหุ้ม แผ่นใบทั้งสองด้านของเส้นกลางใบจะไม่เท่ากัน ในขณะที่ใบยังอ่อนด้านใหญ่จะม้วนหุ้มด้านเล็กไว้ และตรงรอยต่อของก้านใบกับแผ่นใบจะโป่งออก ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไว้ของใบ ซึ่งในเวลากลางคืนใบจะกางออก และห่อขึ้นในช่วงเวลากลางวันคล้ายกับการพนมมือ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร[1],[2],[3]
ใบคล้า
  • ดอกคล้า ดอกจะออกเป็นช่อบริเวณยอดอ่อนจากซอกกาบใบ ดอกจะออกเป็นคู่จากกาบรองดอกที่เรียงซ้อนกันเป็นแถวในระนาบเดียวกัน สลับซ้ายขวาจากแกนของช่อดอก หรืออาจจะเรียงสลับกันเป็นวง ดอกคล้าจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 3 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก แต่จะดอกสมบูรณ์เพศเพียง 1 อัน ส่วนที่เหลือจะเป็นหมันและจะเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก 1 กลีบ และลักษณะของช่อดอกจะมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ แบบช่อแขนง แบบช่อกระจะ แบบช่อเชิงลด และแบบช่อกระจุกอยู่ที่ปลายก้าน[3] โดยดอกย่อยจะเป็นสีขาว ดอกมีกลีบดอก 3 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดๆ ปลายกลีบมน ส่วนกลีบรองดอกมี 3 กลีบ[2] ดอกมีขนาดใหญ่และเป็นสีขาวล้วน[1] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[5]
รูปดอกคล้า
ดอกแหย่งดอกคล้า
  • ผลคล้า ผลมีลักษณะกลม เป็นพู 3 พู ผลมีขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด[2] บ้างว่าผลมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ และไม่ค่อยได้พบนัก ได้แก่ ผลแห้ง ที่เมื่อแก่แล้วจะแตกหรือไม่แตกออก และผลที่มีเนื้อนุ่ม และมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด[3]

สรรพคุณของคล้า
  1. เหง้าหรือหัวมีรสเย็นและเบื่อ ใช้กินเป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการพิษไข้ ไข้เหลือง ไข้เหนือ ไข้ปอดบวม ไข้กาฬ ไข้จับสั่น กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้รากสาด ไข้หัด ช่วยดับพิษไข้ทั้งปวง (หัว)[1],[2],[5],[6]
  2. แก้เหือดหัด อีสุกอีใส ฝีดาษ ประดง (หัว)[1],[2],[5]
  3. ช่วยรักษาอาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (หัว)[1],[2],[5]
  4. ในประเทศอินเดียใช้หัวเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (หัว)[2],[5]

ประโยชน์ของคล้า
  1. ต้นนำมาตากแห้ง ใช้ในการจักสาน เช่น การสานเสื่อ เป็นต้น[1]
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้ดับในบริเวณบ้านทั่วไป ใช้ตกแต่งสวนน้ำ หรือใช้ปลูกตามสถานที่ต่างๆ[3],[4],[5]
  3. คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นคล้าไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยคุ้มครองรักษาและให้มีความสงบสุข เพราะคำว่า “คล้า” หรือ “คลุ้ม” หมายถึง การคุ้มครองปกป้องรักษา และยังหมายถึงความคลาดแคล้วจากพิษภัยของศัตรูทั้งปวงอีกด้วย นอกจากนี้ยังเรียกต้นคล้าว่า “พุทธรักษาน้ำ” โดยถือว่าเป็นไม้มงคลนาม ที่มีความหมายว่า พระพุทธเจ้ารักษานั่นเอง (แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นคล้าสายพันธุ์นี้หรือไม่ เพราะต้นคล้ามีอยู่ด้วยกันหลายชนิด)[6]


อ้างอิงที่มา

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น