Container Icon

การปลูกกลอย

          การปลูกกลอย

         กลอย มี 2 ชนิด ได้แก่ กลอยข้าวเจ้า มีเนื้อสีขาว และกลอยข้าวเหนียว มีเนื้อสีเหลือง กลอยมีสารที่ทำให้เบื่อเมา ก่อนนำมาบริโภคต้องทำให้สารดังกล่าวหมดไป 
         กลอย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในป่า แต่ภายหลังมีการนำมาปลูกไว้ในหมู่บ้าน โดยคนในรุ่นก่อนๆ หลังเสร็จจากการดำนา หรือประมาณเดือนกันยายน จะชวนกันเข้าป่าหาเก็บเห็ด ( เห็ดปลวกน้ำท่วม ) ขุดมัน รวมทั้งขุดกลอย เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน
         กลอย อีกส่วนหนึ่งจะมีการนำไปปลูกขยายพันธุ์ไว้ในสวนหลังบ้าน หรือที่ดอนตามหัวไร่ปลายนา คุณแม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อสี่สิบปีที่แล้วเริ่มมีการนำกลอยมาปลูกแต่ยังไม่มากนัก ต่างกันกับสมัยนี้ที่มีปลูกกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นที่ป่าลดลง กลอยเริ่มหายากขึ้น การปลูกกลอยก็ทำได้ง่ายไม่ต้องพิถีพิถัน

ในหมู่บ้านของผมมีการปลูกกลอยอยู่หลายครอบครัว คุณแม่ถนอม ผู้ที่ผมนำเรื่องการปลูกผักเสี้ยนมาเขียนเป็นบันทึก (ดูบันทึก) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีการปลูกกลอย โดยปลูกผสมผสานไว้ในสวนหม่อน การปลูกกลอยของคุณแม่ถนอม จะแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ปลูกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ส่วนคนอื่นปลูกไว้บริโภคเท่านั้น

     การปลูกกลอย  
        การปลูกกลอยนิยมใช้หัว เพราะทำได้ง่าย ( ช่วงเวลาในการปลูกตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม )
       ส่วนการปลูกด้วยเมล็ด จะใช้วิธีการปล่อยให้เมล็ดร่วงหล่นลงพื้นดิน และงอกเป็นต้นใหม่ในช่วงต้นฤดูฝน ( ประมาณเดือนพฤษภาคม ) จากนั้นจึงขุดแยกไปปลูกกระจายตามสวนหม่อน
การจัดการความอุดมสมบูรณ์ ทำได้โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วให้คลุมหน้าดินด้วยใบไม้แห้งต่างๆ โดยปกติแล้วจะมีการกวาดใบไม้หรือมูลฝอยต่างๆ ใส่สวนหม่อนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งกลอย
         กลอย จะขุดมาใช้แปรรูปเป็นอาหารได้ประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ( โดยทั่วไปนิยมแปรรูปกลอยในช่วงเดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม ) ถ้าปีใดฝนตกชุก มีการเจริญเติบโตดี เถาหรือต้นมีขนาดใหญ่ กลอยจะให้ผลผลิตได้เร็ว ( กลอยจะออกดอกในช่วงนี้ )


        กลอย มี 2 ชนิด ได้แก่ กลอยข้าวเจ้า มีเนื้อสีขาว และกลอยข้าวเหนียว มีเนื้อสีเหลือง กลอยมีสารที่ทำให้เบื่อเมา ก่อนนำมาบริโภคต้องทำให้สารดังกล่าวหมดไป ซึ่งมีวิธีการดังนี้
1. ปลอกเปลือก หั่นเป็นแผ่นบางๆ ประมาณ 3 - 4 มิลลิเมตร เพราะจะทำให้น้ำล้างสารเบื่อเมาออกจากเนื้อกลอยได้ง่ายและเร็วขึ้น
2. นำกลอยที่หั่นแล้วใส่ภาชนะ โดยโรยเกลือเป็นชั้นๆ แล้วคลุกให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 3 คืน ( หัวกลอยขนาด 1 กก. ใส่เกลือประมาณ 2 กำมือ )
3. แช่น้ำเปล่า 2 วัน โดยในแต่ละวันล้างกลอย 2 - 3 ครั้ง ( ในขั้นตอนนี้หากแช่น้ำหลายวันจะทำให้กลอยเละ ไม่เป็นแผ่น ) ถ้ามีฟองอากาศตรงผิวน้ำด้านบน แสดงว่าล้างสารเบื่อเมาออกหมดแล้ว
4. ผึ่งให้น้ำแห้งหมาดๆ แล้วนำไปนึ่งเหมือนกับการนึ่งข้าว จนกลอยสุก สังเกตจากเนื้อกลอยมีสีใส ตักใส่ภาชนะโรยด้วยน้ำตาลทรายและมะพร้าวขูด

            นอกจากการทำกลอยนึ่ง ในหมู่บ้านของผมยังไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น การใช้กลอยเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร เช่น ทำสารฆ่าแมลง ก็ยังไม่ปรากฏ


ขอบคุณที่มา

1 ความคิดเห็น :

Unknown กล่าวว่า...

น้ำกลอยแรก หมัก๓ วัน เอาไปฉีดพ่นไปยาฆ่าแมลงได้เลยครับ อย่าทิ้ง

แสดงความคิดเห็น