Container Icon

ผักกระทกรก

ผักพื้นบ้าน กระทกรก บ้านเกิดผมเรียก ยอดกระดอม



         
                                                     ผลกะทกรกป่า                                                
เสาวรส หรือ กะทกรก  มีลักษณะ ทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เถา เถามีลักษณะกลม ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึกเป็น  3  แฉก  และมีหนวดไว้สำหรับเกาะเกี่ยวพันต้นไม้อื่น  จากการศึกษาเว็บไซด์  thaiherb-tip108.blogspot.com : มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย   และ   www.rspg.or.th  :  เสาวรส - สรรพคุณสมุนไพร  200  ชนิด พบว่า เสาวรสหรือกะทกรก แบ่งออก เป็น  2 ชนิด  คือ  กะทกรกป่า  และ กะทกรกฝรั่ง  มีข้อมูลประกอบ ดังนี้

                  

    

                                                            เถา - ยอด และดอก กะทกรกป่า
กะทกรกป่า
ชื่ออื่น  :  รกช้าง ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ฝอยทอง รกช้างย่าน กระโปรงทอง  ตำลึงทอง กะทกรกบ้าน 
ชื่อวงศ์   :   Passifloraceae                                    
ชื่อวิทยาศาสตร์   :  Passiflora foetida Linn.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  :   ลำ ต้นเป็นไม้เถามีหนวดเกาะเกี่ยวพันต้นไม้อื่นลักษณะใบใบมีลักษณะเป็น 3 แฉก ผิวใบมีขนอ่อน ขอบใบเรียบ ปลายแหลม ใบกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาว 5 เซนติเมตรลักษณะดอกดอกขอบนอกจะมีสีขาว วงในจะมีสีม่วงเข้ม ขนาดประมาณ 1 นิ้วลักษณะผลผลแก่สีเขียว ผลสุกสีเหลือง ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร จะมีรกหุ้มสีเขียวอ่อนและเมื่อผลสุกรกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
                  



   
                                                      ดอก และผลกะทกรกป่า
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร : ยอด ผลอ่อน ผลแก่ ผลสุก รวมทั้งรกหุ้มใช้เป็นอาหารประเภทลวกเป็นผักจิ้ม หรือกินสดและแกงเลียงรสชาติยอดมัน หวาน ส่วนผลสุกเปรี้ยวอมหวานส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์เมล็ดพื้นที่ที่เจริญเติบโตได้ ดีที่ราบฤดูกาลที่ให้ผลผลิตตลอดปี
สรรพคุณทางสมุนไพร :  ใช้ รากสดหรือตากแห้ง ชงดื่มเป็นน้ำชาที่ทำให้สดชื่น เถา เป็นยาธาตุ พอกรักษาแผล ใบตำพอกศีรษะ แก้หวัด คัดจมูก เปลือก เป็นยาชูกำลัง ตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก

ที่มาแหล่งข้อมูล: ลิงก์

ผักปลัง


ผักปลัง
               พืชที่คนไทยเรียกผักปลังนั้นมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ผักปลังขาว ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella alba Linn. และผักปลังแดง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella rubra Linn. อยู่ในวงศ์ Basellaceae จะเห็นได้ ว่าทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดงต่างก็อยู่ในวงศ์และสกุล(Genus)เดียวกัน อีกด้วย ดังหัวเรื่องที่ผู้เขียนใช้คำว่า ล้วนเทือกเถาเดียวกันคำว่าเทือกเถาตัดเอามาจากสำนวนเต็มคือ เทือกเถาเหล่ากอซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ อธิบายว่า หมายถึงเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบเนื่องต่อกันมาทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดงต่างก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยเฉพาะต่างก็มีลักษณะเป็น เถาอีกด้วย
ทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดง มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นและใบอวบน้ำ ขึ้นพาดพันรั้วหรือค้าง ใบรูปร่างคล้ายใบพลูแต่เล็กกว่านิดหน่อย ดอกสีแดงอ่อน ผลติดเป็นช่อ ผลขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกสีม่วงดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Basella alba L., Basella rubra L.
วงศ์ BASELLACEAE
ชื่อสามัญ Ceylon spinach
ชื่อท้องถิ่น ผักปลังใหญ่(ภาคกลาง) ผักปั้ง(ภาคเหนือ) โปแดงฉ้าย(จีน) ผักปลังแดง ผักปลังขาว
           ผักปลังพบขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามที่รกร้างว่างเปล่าที่น้ำไม่ท่วม สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักปลังอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียเขต ร้อน จึงอาจนับได้ว่าผักปลังเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง
ความแตกต่างระหว่างผักปลังขาวและผักปลังแดงคือ ลำต้นและใบของผักปลังขาวมีสีเขียว ส่วน          ผักปลังแดงมีลำต้นและใบสีม่วงแดง
ชื่อภาษาอังกฤษของผักปลังคือ Malabar Nightshade และ Ceylon Spinach น่าสังเกตว่า Malabar เป็นชื่อชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และ Ceylon คือชื่อประเทศศรีลังกา แสดงว่า ชาวอังกฤษคงพบเห็นผักปลังครั้งแรกแถบประเทศอินเดีย และเกาะศรีลังกา ที่เป็นเมืองท่าติดต่อกับชาวตะวันตก


           ส่วนชื่อผักปลังในประเทศไทยนั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้คำว่าผักปลังซึ่งคำว่า ปลังนั้นไม่มีความหมายอื่น แต่ ในหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น THAI-ENGLISH DICTIONARY ของพระอาจวิทยาคม (George Bradley McFarland) ฉบับ Stanford University Press (1969) หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระ- เชตุพนฯ พระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๐) และหนังสือพืชสมุนไพรของนิจศิริ เรืองรังษี และพยอม ตันติวัฒน์ สำนักพิมพ์โอเดียน สโตร์ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ต่างก็ใช้เขียนว่า ผักปรัง” (สะกดด้วย ร.เรือ) ทั้งสิ้น คำว่า ปรังในภาษาไทยใช้เรียกนาที่ทำ ในฤดูแล้งว่า นาปรังเป็นคำนาม มาจากภาษาเขมรว่า ปรังหมายถึง ฤดูแล้ง อีกความหมายหนึ่งเป็น คำวิเศษณ์แปลว่า เกินเวลา เกินกำหนด เป็นคำไทยแท้
             เมื่อพิจารณาจากความหมายแล้ว น่าเป็นไปได้ว่า คำว่า ผัก ปลังน่าจะเขียนว่า ผักปรังมากกว่า เพราะน่าจะหมายถึงผัก ฤดูแล้ง (ตามศัพท์เขมร) เพราะผักปลังมีลำต้นอวบน้ำ สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เช่นเดียวกับพืชอวบน้ำอื่นๆ (เช่น หางจระเข้, ป่านศรนารายณ์, พืชตระกูลกระบองเพชร ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขอให้ผู้รู้นำไปพิจารณาก่อน ระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติก็คงต้องใช้ผักปลังตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ไปก่อนอย่างเป็นทางการ
ชื่อผักปลังที่ใช้เรียกในประเทศไทยมี ผักปลัง ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาค กลาง) และผักปั๋ง (ภาคเหนือ)
ผักปลังในฐานะผัก
          ผักปลัง(ขาวและแดง) ผักปลังเป็นผัก ที่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งร่วมกันที่หาได้ยากในผักชนิดอื่นๆ นั่นคือ เป็นผักที่มีเมือก (Mucilage) มากเป็นพิเศษ
ส่วนของผักปลังที่ใช้เป็นผักคือส่วนยอด ใบ และดอกอ่อน ส่วนมากใช้เป็นผักจิ้ม โดยทำให้สุกเสียก่อน นอกจากนี้ยังนิยมนำไปใช้แกงส้มอีกด้วย ผักปลังนับเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงชนิดหนึ่ง เพราะมีธาตุเหล็กและแคลเซียมอยู่สูง นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี อยู่มากด้วย สำหรับเมือกที่มีอยู่ในผักปลังนั้นมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ท้องไม่ผูก


           ผักปลัง เป็นไม้เลื้อย ยาวหลายเมตร แตกกิ่งก้านสาขามากทั้งเถาฉ่ำน้ำ มีสีเขียวหรือม่วงแดงใบเดี่ยวออกสลับกัน มีก้านใบยาว ฐานใบกว้าง ตัวใบกลมรีคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ ๓-๑๒ เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อจากที่ง่ามใบหรือที่ยอด ดอกขนาดเล็กมีกลีบชมพู ผลฉ่ำน้ำขนาดใหญ่กว่าเมล็ดพริกไทย เมื่อผลแก่จะเป็นสีดำ
ผักปลังในฐานะอาหาร
ผักปลังมีส่วนที่นำมาประกอบอาหารได้ทั้งยอดอ่อนและดอก โดยนำมาแกงส้ม ในภาคเหนือจะนำมาแกงใส่แหนม ในภาคอีสานจะนำยอดอ่อนมาต้มทำเป็นเครื่องจิ้มน้ำพริก
รสชาติของผักปลังจะออกหวานนิดหน่อย ผักปลังมีลักษณะเฉพาะคือจะฉ่ำน้ำและจะมียางเป็นเมือกลื่นๆ เวลากินจะรู้สึกลื่นๆ
ใบและยอดอ่อนปรุงเป็นอาหาร ให้แคลเซียม เหล็ก และวิตามินเอ บี ซี เบต้าแคโรทีน เป็นผักที่มีกากมาก ช่วยระบายในคนที่ท้องผูกเป็นประจำ
นอกจากนี้ผลของผักปลังที่สุกจะมีสีม่วงแดงสามารถนำมาใช้แต่งสีขนมเยลลี่ หรืออาหารต่างๆได้
ผักปลัง 100 กรัม ให้พลังงาน 21 กิโลแคลอรี่
  • เส้นใย 0.8 กรัม
  • แคลเซียม 4 มก.
  • ฟอสฟอรัส 50 มก.
  • เหล็ก 1.5 มก.
  • วิตามิน เอ 9316 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มก.
  • วิตามินบีสอง 0.20 มก.
  • ไนอาซิน 1.1 มก.
  • วิตามินซี 26 มก.

ผักปลังเป็นผักที่ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะขัด บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ผื่นแดงคัน แผลสด ฝีเป็นหนอง


ตำรับยาและวิธีใช้
  1. ท้องผูก ใช้ใบสดปรุงเป็นอาหาร กินเป็นประจำ
  2. ขัดเบา ใช้ต้นสด ๖๐ กรัม ต้มน้ำดื่มต่างน้ำชา
  3. อึดอัดแน่นท้อง ใช้ใบสดหรือยอดอ่อน ๖๐ กรัม ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้นแล้วกิน
  4. ฝีหรือแผลสด ใช้ใบสดตำพอก วันละ๑-๒ ครั้ง
  5. ผื่นแดงหรือแผลไฟไหม้ ใช้น้ำคั้นจากใบสด

ผักปลังแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Basella rubra Linn.
วงศ์ Basellaceae
ชื่ออื่น ผักปลังยอดแดงครั่ง ผักปั๋ง (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้น กลมอวบน้ำ เมื่อขยี้จะเป็นเมือกลื่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1.3 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาได้มากสีม่วงแดงใบ ใบเดี่ยว หนา ขอบใบเรียบติดเรียงแบบสลับ แผ่นใบกว้างอวบน้ำ ขนาดกว้าง1.3-7.2 เซนติเมตร ยาว 2.1-8.3 เซนติเมตร ใบเป็นมัน ไม่มีขน


  • ดอก มีช่อดอกแบบสไปค์(Spike) ดอกมีขนาดเล็ก มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียรูปทรวงได้สัดส่วนสมดุล กลีบรองมี 5 กลีบ ติดกันที่ฐาน และมีกาบประดับขนาดเล็ก 2 อัน รองรับอยู่กลีบมีสีชมพู หรือม่วงเข้ม มีอายุคงทน กลีบดอกไม่มีเกสรตัวผู้มี 5 อัน ติดที่ฐานของกลีบรองเกสรตัวเมีย มีรังไข่ 1 อัน อยู่เหนือชั้นกลีบดอก(superior) ยอดเกสรแยกเป็น 3 แฉก ผล เป็นแบบดรูป (Drupe)มี 3 พู เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้มเนื้อนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วง ฤดูกาลออกผลระหว่างเดือน มิถุนายน-ตุลาคม
  • เมล็ด รูปไข่แข็งมีอาหารสะสม ต้นอ่อนในม้วน บิดหรือโค้งเป็นวง การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ปักชำลำต้น ยอด

ประโยชน์และสรรพคุณ
  • ต้น : แก้พิษฝีดาษ
  • ใบ : แก้กลาก
  • ดอก : แก้เกลื้อน
  • ราก : แก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้พรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม)
  • ใบ และดอกอ่อน รับประทานเป็นผัก ใช้ปรุงอาหาร โดยการนำไปต้ม ลวกนึ่ง ให้สุก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใบ แกงส้ม แกงแค แกงปลา แกงอ่อม ผัดน้ำมัน ผัดกับแหนม ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมรับประทานทางสมุนไพร ชาวเหนือมีความเชื่อว่า ผู้ที่มีคาถาอาคม จะไม่กล้ารับประทานเพราะกลัวคาถาเสื่อม อาจเนื่องมาจากผักปลังเป็นผักที่นำไปใช้กับการคลอดบุตร โดยใช้ลำต้นสดตำให้ละเอียด และคั้นน้ำเมือกเอามาทาช่องคลอด เพื่อให้คลอดง่ายขึ้น และผู้เฒ่าผู้แก่แนะนำให้หญิงมีครรภ์รับประทานด้วย ก้านมีสรรพคุณ แก้พิษฝี แก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ลดไข้ ใบ แก้กลาก บรรเทาอาการผื่นคัน ดอก แก้เกลื้อน ราก สรรพคุณ แก้มือเท้าด่างๆ แก้รังแค ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน รสจืดเย็น ช่วยให้ท้องระบายอ่อน ๆ

ปลูกผักปลัง
         ผักปลังเป็นผักพื้นเมืองของภาคเหนือ ซึ่งนิยมรับประทานกันมาก เป็นไม้เลื้อย ลำต้นอวบน้ำ ชอบขึ้น ในสภาพที่ดินร่วนซุย ชุ่มชื้น การระบายน้ำดี สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่รับประทาน คือยอดอ่อน และ ช่อดอกอ่อน โดยนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือทำแกง โดยเฉพาะนิยมแกงกับแหนมหมู จะมีรสชาติอร่อยมาก ที่สำคัญคือผักชนิดนี้ไม่มีโรคแมลง ดังนั้นผักปลังจึงปลอดจากสารเคมี ลุงยมได้ปลูกผักปลังไว้ประมาณครึ่งงาน ในแต่ละวันสามารถเก็บจำหน่ายได้ประมาณ 30 กำ ฤดูกาล


            ผักปลังปลูกได้ตลอดปี แต่ระยะเวลาในการปลูกผักปลังที่เหมาะสม คือ การปลูกผักปลังชุดแรกประมาณเดือนเมษายน จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมกราคม หลังจากนั้นต้นผักปลังจะโทรม ไม่ค่อยแตกยอด จึงทำการรื้อเพื่อปลูกผักปลังชุดใหม่ต่อไป

การเตรียมพันธุ์
          เก็บผลแก่ของผักปลังที่ขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อแก่เต็มที่จะมีสีม่วงเข้มเป็นผลทรงกลม ฉ่ำน้ำ ข้างในมีเมล็ดจำนวน 1 เมล็ดต่อผล นำมาตากเมล็ดจนแห้ง
วิธีการปลูกผักปลัง
  1. เตรียมดินโดยการไถพรวน ทำแปลงกว้างประมาณ 1.20 เมตร ยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวตามลักษณะของพื้นที่
  2. ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ในขณะเตรียมดินไร่ละประมาณ 1-2 ตัน
  3. เตรียมหลุม ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตรและระยะระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร
  4. นำเมล็ดของผักปลังที่เตรียมไว้มาลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ปลูกลึกประมาณ 1 เซนติเมตร
  5. ใช้ฟางข้าวหรือเศษหญ้าคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้น
  6. ปักค้างไม้ไผ่ เพื่อให้ลำต้นเลื้อยขึ้น เพราะการทำค้างนอกจากช่วยให้ผักปลังเจริญเติบโตดีแล้ว ยังช่วยทำให้เก็บยอดสะดวก

การดูแลรักษา
  1. การให้น้ำ ทำการรดน้ำทุกวันเช้าเย็น เพื่อให้แปลงมีความชื้นพอเหมาะอยู่เสมอ หรือหากมีน้ำเพียงพออาจปล่อยน้ำตามร่องแปลงก็ได้
  2. การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยทุก 15 วัน โดยผสมน้ำในอัตราส่วนปุ๋ยเคมี 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
           เมื่อผักปลังมีลำต้นยาวประมาณ 20 เซนติเมตรจะเริ่มเด็ดยอด โดยเวลาที่เหมาะสมคือในตอนเช้ามืด เพราะจะทำให้ได้ผักที่อวบและสด และสามารถเก็บยอดดอกได้ทุกวัน ผักปลังมีคุณสมบัติ คือเมื่อเด็ดยอดจะทำให้แตกยอดมาก เมื่อเก็บแล้วนำมามัดเป็นกำ

ข้อมูลภาพ :ลิงก์

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ผักปลังที่น่าสนใจ :ลิงก์

หม่อน

ต้นหม่อน


monlook
            หม่อนเป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้พุ่ม มีอยู่หลายชนิด ที่มีลำต้นใหญ่ ตั้งตรง มีกิ่งก้านมาก ใบ เป็นส่วนที่ใช้เลี้ยงไหม ขนาด ความหนา และลักษณะรูปร่างของขอบใบจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ หม่อนเป็นพืชที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันคนละต้น แต่บางพันธุ์อาจมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอก หม่อนมีลักษณะเป็นกลุ่มเกาะติดกันเป็นช่อ เมื่อดอกตัวเมียได้รับการผสมจะเปลี่ยนเป็นผล ซึ่งมีลักษณะเป็นช่อประกอบด้วยเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก
ชื่ออื่นๆ มอน (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn.
ชื่อวงศ์ Moraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านไม่มากนัก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ขึ้นกับพันธุ์ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม หรือรูปหัวใจ หรือค่อนข้างตัด ใบอ่อนขอบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบ 4 คู่ เส้นร่างแหเห็นชัดด้านล่าง ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบสากคาย ก้านใบเล็กเรียว ยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปแถบแคบปลายแหลม ยาว 0.2-0.5 เซนติเมตร ดอกช่อ รูปทรงกระบอกออกที่ซอกใบ และปลายยอด แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างช่อกัน วงกลีบรวมสีขาวหม่น หรือสีขาวแกมเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง เกสรเพศเมีย วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน เมื่อเป็นผลจะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้ ยอดอ่อนรับประทานได้ มักใช้ใส่แกงแทนผงชูรส หรือใช้เป็นอาหารต่างผัก พบทั่วไปในป่าดิบ ใบใช้เลี้ยงตัวไหม วัวควายที่กินใบหม่อนทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น
montone

สรรพคุณ
              ยาพื้นบ้าน ใช้ ใบ รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำยาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะ ฝ้าฟาง ใบแก่ ตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก ใบ แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะฝ้าฟาง ใบ ใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ราก ขับพยาธิ และเป็นยาสมาน ตากแห้งต้มผสมน้ำผึ้ง ยานี้จะมีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจ และการมีน้ำสะสมในร่างกายผิดปกติ ใช้แก้โรคความดันโลหิตสูง แขนขาหมดความรู้สึก กิ่งอ่อน ใบอ่อน แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ ใบ น้ำต้มและยาชง มีฤทธิ์เป็นยาชะล้าง ใช้ล้างตาแก้ตาอักเสบ ใบอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไอ ยาหล่อลื่นภายนอก น้ำต้มใบใช้กลั้วคอแก้เจ็บคอ ใช้ล้างตา แก้อาการติดเชื้อ ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอก รักษาแผลจากการนอนกดทับ ผล รสเปรี้ยวหวานเย็น ต้มน้ำหรือเชื่อมกิน เป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้โรคปวดข้อ ใช้แก้โรคได้เช่นเดียวกับเปลือกราก ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงไต ดับร้อน ช่วยย่อย และเพื่อความสดชื่น เมล็ด ใช้เพิ่มกากใยอาหาร เปลือก เป็นยาระบาย และยาถ่ายพยาธิ
ในจีน ใช้ เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะแก้ไอ หืด วัณโรคปอด การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ โรคปวดข้อ เปลือกต้น เป็นยาถ่าย และยาขับพยาธิ
monsook

องค์ประกอบทางเคมี
            ใบ มี carotene, succinic acid, adenine, choline, วิตามินซี ผล มี citric acid, วิตามินซี เนื้อไม้ มี morin ลำต้น มี steroidal sapogenin เปลือก มี α-amyrin

หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่
  • สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
  • ปลูกและดูแลรักษาง่าย ขอแค่ให้มีน้ำเพียงพอก็ให้ผลแล้ว
  • ให้ผลผลิตประมาณ 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี เมื่อต้นหม่อนมีอายุ 3 ปีขึ้นไปหลังปลูก
  • ผลผลิตที่ได้ปลอดภัยจากสารพิษ เพราะขณะนี้ยังไม่พบว่ามีความจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช
  • ผลมีสีแดงสดใสจนถึงสีแดงเข้ม (ผลห่าม) ดุจดังสีทับทิมสยาม สำหรับผลสุกให้สีม่วง เมื่อนำไปแปรรูปจะได้ ผลิตภัณฑ์สีสดใส ถูกใจ ผู้บริโภค
การปลูกหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่
          เพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะสามารถเป็นได้ทั้งไม้ใบและไม้ผล
ปลูกเพื่อผลิตผลหม่อนเชิงพาณิชย์

การเลือกพื้นที่
  • ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง
  • ดินไม่เป็นกรด หรือด่างมากเกินไป
  • สภาพพื้นดินไม่เคยเกิดการระบาดโรครากเน่าของหม่อนมาก่อน
  • สามารถให้น้ำได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ที่หม่อนกำลังติดดอกออกผล
  • พื้นที่คมนาคมสะดวก
  • อยู่ใกล้ตลาดและโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลหม่อน
monking
 
การปลูกมี 2 วิธี
วีธีที่ 1. การปลูกเป็นแถว
  • ไถดินลึก 30 เซนติเมตร
  • ขุดร่องกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร รองก้นร่องด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2-3 ตัน/ไร่ กลบดิน ปลูกหม่อนระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 2-3 เมตร
วิธีที่ 2. ปลูกเป็นหลุม
  • เตรียมหลุดขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 2-4 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 3-5 กิโลกรัม
  • ปลูกต้นกล้าหม่อนกลบโคนให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม
การใส่ปุ๋ย
  • ครั้งที่ 1 ต้นฤดูฝน ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1,000-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน) อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
  • ครั้งที่ 2 ต้นฤดูหนาว ใส่ปุ๋ย 50 กิโลกรัมต่อไร่
  • ครั้งที่ 3 เพื่อเพิ่มความหวานใส่ปุ๋ยอัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ในระยะผลหม่อนเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง
การให้น้ำ
ต้องให้น้ำหม่อนในระยะติดผล
ให้น้ำในระยะอื่นๆ พิจารณาตามความเหมาะสมเมื่อฝนทิ้งช่วง

การบังคับทรงพุ่ม
เลือกกิ่งสมบูรณ์ไว้ประมาณ 5 กิ่ง/ต้น ตัดไว้ตอช่วงต้นฤดูฝนเพื่อให้แตกกิ่งแขนง สร้างทรงพุ่มให้แตก
หม่อนจะออกดอกราวเดือนมกราคม-มีนาคม และเก็บเกี่ยวผลหม่อนในช่วงปลายฤดูหนาว-ฤดูร้อน

การเก็บเกี่ยวผลหม่อน
เพื่อบริโภคผลสด ควรเก็บเกี่ยวผลหม่อนสีม่วงแดง หรือสีม่วงดำ
เพื่อการแปรรูป การทำน้ำผลหม่อนที่มีสีแดงควรเก็บเกี่ยวในระยะผลสีแดงม่วงผสมกับสีม่วง การแปรรูปเป็นไวน์ควรเก็บเกี่ยวในระยะสีม่วงดำ

การเก็บรักษาผลหม่อน
การบริโภคผลสด นำมาบรรจุในกล่องกระดาษเป็นชั้นๆ หนาไม่เกิน 2 ชั้น ทำการปิดกล่องเพื่อรอการขนส่งและจำหน่าย
การแปรรูป อาทิ น้ำหม่อน แยมหม่อน ไวน์หม่อน เยลลี่ หากไม่สามารถนำไปแปรรูปได้ทันที ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -14 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 12 เดือน
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลหม่อน
            การ เก็บเกี่ยวผลนับเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกิจกรมภายในสวนก่อนนำเข้าสู่กระบวนการ การเก็บรักษาผล การขนส่ง และการตลาด เนื่องจากผลหม่อนมีขนาดผลเล็กและมีระยะเวลาสุกของผลไม่พร้อมกันหมดทั้งต้น แต่เป็นการค่อยๆ สุกทีละผลและจะต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน อีกทั้งผลหม่อนเป็นผลไม้ที่มีความบอบช้ำได้ง่าย ดังนั้นวิธีการเก็บเกี่ยวผลหม่อนจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแนะนำวิธีการเก็บเกี่ยว ดังนี้
  1. การเก็บเกี่ยวผลเพื่อรับประทานผลสด เมื่อผลหม่อนเริ่มเปลี่ยนสีจากสีแดง เป็นสีแดง- ดำหรือสีดำ ก็เก็บผลได้โดยการใช้มือเก็บทีละลูกเนื่องจากผลหม่อนสุกไม่พร้อมกันหากปล่อย ทิ้งไว้จนผลเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำผลจะร่วงลงสู่พื้นดินทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิต ได้น้อย หลังจากเก็บผลหม่อนมาแล้วนำมาบรรจุในกล่องกระดาษโดยเรียงเป็นชั้น ๆ ไม่เกิน 2 ชั้น ทำการปิดกล่องเพื่อรอการขนส่งและจำหน่ายต่อไป หากไม่สามารถขนส่งได้ทันทีควรเก็บไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส
  2. การเก็บเกี่ยวเพื่อการแปรรูป หากต้องการนำไปทำน้ำผลหม่อนที่มีสีแดงก็เลือกเก็บเกี่ยวในระยะผลแดง แต่หากต้อการให้น้ำผลไม้มีสีคล้ำก็เก็บผลในระยะสีดำ สามารถนำผลหม่อนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทันที หากไม่สามารถแปรรูปได้ทันที ควรเก็บรักษาไว้โดยบรรจุในถุงพลาสติก หรือ ตะกร้าผลไม้ ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ -22 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน
การเก็บรักษาผลหม่อน
               หม่อน รับประทานผล ผลิตผลหม่อนออกมาในฤดูกาลเป็นระยะเวลาสั้น คือประมาณ 30 -40 วันเท่านั้น ทำให้การนำผลหม่อนไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ จำต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้ผลหม่อนที่สุกเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการเก็บรักษาผลหม่อนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นระยะเวลา นานมากขึ้นจึงมีความจำเป็นยิ่ง แต่การเก็บรักษาผลหม่อนนั้นแตกต่างกันไปตามแต่วัตถูประสงค์ของการนำไปใช้ ประโยชน์ คือ

การเก็บรักษาเพื่อการรับประทานผลสด ควรเก็บผลหม่อนจากต้นในระยะที่มีผลสีแดงเข้มแล้วนำมาใส่ภาชนะที่โปร่งวาง ซ้อนกันไม่สูงมากนัก จะสามารถเก็บรักษาผลหม่อนได้เป็นระยะเวลา 2 -3 วัน โดยที่           
           คุณภาพของผลหม่อนยังคงเดิม คือมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ซึ่งจะมีความหวานประมาณ 8 -10 °Brix. และมีปริมาณกรด 1.7 – 2.0 กรัม /ลิต มีสีสันแดงอมม่วงหรือดำ หากเก็บรักษาไว้นานกว่านี้จะทำให้ผลหม่อนมีปริมาณกรดน้อยลง และเปลี่ยนสีเป็นสีดำทำให้ไม่น่ารับประทานสด

          เก็บรักษา ในห้องเย็น ควรเก็บรักษาไว้โดยบรรจุในถุงพลาสติกขนาดบรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม หรือบรรจุลงในตะกร้าผลไม้ และนำไปเก็บไว้ที่ห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ – 22 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน 6 เดือน
          คุณสมบัติทางกายภาพ ของผลหม่อนสายพันธุ์เชียงใหม่ สีแดง – แดง –ดำและดำ ที่เก็บ รักษาไว้ในอุณหภูมิห้องในระยะเวลาต่างกัน
monbai

ผลิตน้ำผลไม้พร้อมดื่มจากผลหม่อน
วัสดุ/อุปกรณ์
ประกอบด้วย ผลหม่อน น้ำตาลทราย น้ำสะอาด ผ้ากรอง กรวย อุปกรณ์เครื่องครัว เช่น เตา หม้อ ภาชนะบรรจุ เช่น ขวด จุกปิดปากขวด
ส่วนผสม
1) ผลหม่อนสีแดง (แก่แต่ยังไม่สุก) : ผลสีม่วงดำ (สุก) อัตรา 1 : 1 หรือ 1 : 2 จำนวน 1.5 กก.
2) น้ำตาลทราย 1 กก.
3) น้ำสะอาด 4.5 ลิตร
ขั้นตอน/วิธีทำ
  1. นำผลหม่อนล้างน้ำให้สะอาด ใส่หม้อและเติมน้ำ ตั้งไฟพอเดือด
  2. จากนั้นเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ นาน 20-30 นาที แล้วกรองเอาเมล็ดและกากออก
  3. รินน้ำที่กรองได้ใส่หม้อตั้งไฟอ่อนๆ เติมน้ำตาลและคนให้ละลาย ยกลงจากเตา ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
  4. กรอกใส่ขวดที่แห้งและผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำร้อน และปิดฝาจุกให้สนิท
  5. แช่เย็น เก็บไว้ดื่ม หรือใส่น้ำแข็งดื่ม
ในการทำน้ำผลหม่อน ถ้าใช้ผลสุก (สีม่วงดำ) จะมีรสหวานอย่างเดียว ไม่มีรสเปรี้ยว ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับด้านประสาทสัมผัส ขณะที่ผลแก่ (สีแดง) จะมีรสเปรี้ยว ดังนั้นจึงนิยมให้ผลสีแดง : ผลสีม่วงดำ อัตรา 1:1 หรือ 1:2 จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า คือ ได้รสหวานอมเปรี้ยว หากดื่มขณะที่สภาพอากาศร้อน จะดับร้อนผ่อนกระหายได้ดี และได้กลิ่นของผลหม่อนซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะตัว
ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกองเกษตรเคมี และ นาย วิโรจน์ แก้วเรือง นักวิชาการ กรมหม่อนไหม เกษตรเชี่ยวชาญ

ฟักข้าว

ฟักข้าว พืชพื้นบ้าน ช่วยต้านมะเร็งชั้นยอด



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube โพสต์โดย ladyEdnaMode

          ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพมาพักหนึ่งแล้ว สำหรับผักพื้นบ้านที่มีชื่อว่า "ฟักข้าว" เชื่อว่าหลายคนคงคุ้น ๆ กับชื่อนี้ แต่อาจจะยังไม่รู้ว่า "ฟักข้าว" มีประโยชน์อย่างไร เอ้า...ใครที่ยังไม่รู้ว่า สรรพคุณของฟักข้าว มีอะไรบ้าง ตามมาอ่านกันจ้า

          ฟักข้าว เป็นพืชไม้เลื้อยอยู่ในวงศ์แตงกวาและมะระ มีชื่อสามัญว่า Spring Bitter Cucumber เป็นพืชที่ขึ้นตามรั้วบ้าน หรือตามต้นไม้ต่าง ๆ มีมือเกาะคล้ายกับตำลึง ใบเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-5 แฉก ดอกจะมีสีขาวแกมเหลือง ตรงกลางมีสีน้ำตาลแกมม่วง



          ผลของฟักข้าว 2 ลักษณะ คือ ทรงกลม และทรงรี ผลกลม ๆ จะยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ส่วนผลรีจะยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ถ้ายังเป็นผลอ่อนอยู่ ผลจะมีสีเขียวอมเหลือง มีหนามถี่ ๆ อยู่รอบผล แต่เมื่อสุกแล้ว ผลจะมีสีแดง หรือแดงอมส้ม และหากผ่าผลฟักข้าวออกดูข้างใน ก็จะเห็นเมล็ดจำนวนมากเรียงตัวกันคล้ายเมล็ดแตง แต่ละผลหนักประมาณ 0.5-2 กิโลกรัม

          หลายคนที่อยู่ ต่างจังหวัดอาจจะไม่คุ้นชื่อกับ "ฟักข้าว" แต่คุณอาจจะคุ้นกับชื่อที่เรียกกันในท้องถิ่น อย่างจังหวัดปัตตานี จะเรียก "ฟักข้าว" ว่า "ขี้กาเครือ" จังหวัดตาก จะเรียกว่า "ผักข้าว" จังหวัดแพร่ เรียก "มะข้าว" เป็นต้น

          เห็น หน้าค่าตารู้จัก "ฟักข้าว" กันไปแล้ว ลองมาดูกันบ้างดีกว่า ว่า "ฟักข้าว" นำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือ คนนิยมนำผลอ่อนของฟักข้าวมาปรุงอาหาร เพราะรสชาติของฟักข้าวอร่อยออกขมนิด ๆ แต่นุ่มลิ้น และเพราะว่า "ฟักข้าว" เป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็นเช่นเดียวกับพืชตระกูลแตง การรับประทาน "ฟักข้าว" จึงช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ด้วย ซึ่ง วิธีปรุงอาหารจาก "ฟักข้าว" ก็ไม่ยาก แค่นำ "ฟักข้าว" มาลวก หรือต้มให้สุก แล้วจิ้มกินกับน้ำพริก หรือใส่ในแกง เช่น แกงเลียง แกงส้ม ก็ได้เมนูอร่อยเด็ดอีกจานแล้ว



          แล้ว รู้ไหมว่า เห็น "ฟักข้าว" ผลเล็ก ๆ แบบนี้ แต่มีสรรพคุณเด็ด ๆ มากมายเลยล่ะ โดยเฉพาะผลอ่อนของฟักข้าวที่มีทั้งวิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ไฟเบอร์ แต่สารอาหารที่พบมากใน "ฟักข้าว" ก็คือ เบต้าแคโรทีน โดยพบว่า เยื่อเมล็ดของฟักข้าวมีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอทถึง 10 เท่าเชียวนะ ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน ซึ่ส่วนช่วยบำรุงสายตาได้อย่างดี และยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

          ไม่ใช่แค่ "แคโรทีน" เท่านั้น เพราะรายงานการศึกษาของต่างประเทศ ยังพบด้วยว่า ในเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสีแดงมีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศถึง 70 เท่า แต่สำหรับฟักข้าวสายพันธุ์ไทยมีปริมาณไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศเพียง 12 เท่า ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว

          ทั้ง นี้ ทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่า ไลโคปีนจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวเป็นสารต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้น หากจะบอกว่า ฟักข้าว เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ต้านมะเร็งได้ดีก็คงไม่ผิดนัก

          ในตำรับยาไทย ได้กล่าวถึงสรรพคุณส่วนต่าง ๆ ของฟักข้าวไว้ คือ

          ใบ ปรุงเป็นยาเขียว ใช้ถอนพิษ ดับพิษทุกชนิด ตำพอกแก้ปวดหลัง

          ยอด มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในปริมาณที่สูง จึงสามารถใช้รักษามะเร็ง

          เมล็ด ใช้บำรุงปอด แก้ท่อน้ำดีอุดตัน และแก้วัณโรค

          ราก ใช้ ต้มดื่ม หรือตากแห้ง บดเป็นผงแล้วปั้นขนาด 0.5 กรัม กินครั้งละ 3-5 เมล็ด ก่อนอาหารเช้า-เย็น ขับเสมหะ ดับพิษไข้ แก้เข้าข้อ ปวดตามข้อ ถอนพิษไข้ นอกจากนี้ หากนำส่วนของรากแช่น้ำ แล้วใช้น้ำสระผม จะช่วยแก้ผมร่วง และฆ่าเหาได้


          นอก จากในประเทศไทยแล้ว เรายังสามารถพบ "ฟักข้าว" ได้ในอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย ทั้งประเทศจีน พม่า ไทย ลาว บังกลาเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งแต่ละประเทศก็รู้จักสรรพคุณของ "ฟักข้าว" เป็นอย่างดี และนำ "ฟักข้าว" มาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ กัน อย่างเช่น

          ประเทศจีน นิยมนำเมล็ดแก่ของฟักข้าวมาบดให้แห้ง นำไปผสมน้ำมัน หรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย แล้วทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม จะช่วยรักษาอาการบวมได้ นอกจากนั้น ยังช่วยรักษาโรคกลาก เกลื้อน ฟกช้ำ แก้อาการผื่นคัน โรคผิวหนังต่าง ๆ ได้ด้วย

          ประเทศเวียดนาม ชาวเวียดนามนิยมนำฟักข้าวมาปรุงอาหารในเทศกาลปีใหม่ และงานมงคลสมรส โดยจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮานอย พบว่า น้ำมันจากเยื่อเมล็ดฟักข้าวมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับ

          ประเทศฟิลิปปินส์ นำรากฟักข้าวมาบดแล้วนำไปหมักผม เพื่อช่วยให้ผมดกและยังสามารถกำจัดเหาได้ด้วย ซึ่งในประเพณีล้านนาของไทยก็มีการนำฟักข้าวไปสระผมเช่นกัน เพื่อช่วยแก้อาการคันศีรษะ แก้รังแค แก้ผมร่วง และช่วยให้ผมดกดำขึ้น

          ประเทศญี่ปุ่น มีการวิจัยพบว่า โปรตีนจากสารสกัดน้ำของผลฟักข้าวช่วยยับยั้งการเจริญของก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลอง



          สำหรับในประเทศไทยเองนั้น ขณะนี้มีนักวิจัยกำลังศึกษาสรรพคุณของฟักข้าวอย่างมากมาย อย่างเช่น คณะ นักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้ร่วมกันศึกษาเรื่องการนำน้ำมันของเยื่้อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมัน ระดับนาโน มาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางลดเลือนริ้วรอย ซึ่งจากการทดสอบก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัล "IFSCC Host Society Award 2011" จากงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 (IFSCC 2011) 

          นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า ในเมล็ดฟักข้าวมีโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอชไอวี และยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย ขณะที่นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็กำลังศึกษาวิจัย เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ฟักข้าวให้มีปริมาณเบต้าแคโรทีนและสารไลโคปีน สูงขึ้น และมีผลผลิตของเยื่อหุ้มเมล็ดเพิ่มมากขึ้นด้วย

          เห็น แบบนี้แล้ว ต้องยกให้ "ฟักข้าว" เป็นพืชมหัศจรรย์อีกหนึ่งชนิด เพราะมีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยเลยทีเดียว และเชื่อว่าหากมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เราคงได้ค้นพบถึงสรรพคุณเจ๋ง ๆ ของพืชพื้นบ้านชนิดนี้อีกแน่นอน

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

สรรพคุณด้านเครื่องดื่มสมุนไพร

























ภาพประกอบ