Container Icon

การปลูกอ้อยคั้นน้ำ

การปลูกอ้อยคั้นน้ำพืชที่คนมองข้ามกำไรงาม



อากาศร้อนๆแบบนี้หากคิดถึงเครื่องดื่มเย็นๆหวานเจี๊ยบล่ะก้ออ..ผู้เขียนขอแนะนำน้ำอ้อยคั้นน้ำที่ช่วยดับกระหายคลายร้อนได้เป็นอย่างดีเลยหล่ะคร๊าบ...วันนี้ blogger farmfriend เลยจะขอเสนอวิธีการปลูกและดูแลรักษาอ้อยคั้นน้ำ ที่จะสร้างรายไดีให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว...


อ้อยที่นิยมนำมาคั้นน้ำและเป็นอ้อยเคี้ยวนั้น เปลือกและเนื้อจะนิ่ม เคี้ยวง่าย ให้ปริมาณน้ำอ้อยสูง รสชาติหอมหวาน อร่อย อย่างเช่น อ้อยพันธุ์ สิงคโปร์ เมอริชาร์ต สุพรรณบุรี 50 สุพรรณบัรี 72 เป็นต้น...




การปลูกอ้อยคั้นน้ำนั้นเกษตรกรกำลังนิยมปลูกกัยมากขึ้นเพราะให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงมาก เมื่อเทียบกับการปลูกอ้อยโรงงาน และตลาดการบริโภคน้ำอ้อยสดก็กำลังขยายเป็นที่นิยมมากขึ้น
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำกล่าวว่า ปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ เมอริชาร์ต และสิงคโปร์ พื้นที่หนึ่งไร่ ปลูกอ้อยได้ 1,060 กอ โดยใช้ระยะปลูก 1.5x 1 เมตร หลังปลูกได้ 8 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยอ้อยแต่ละกอจะให้ผลผลิตประมาณ 5-6 ลำ เฉลี่ยพื้นที่ 1 ไร่จะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ลำ อ้อยคั้นน้ำขายที่ลำละ 10 บาท ทำให้มีรายได้สูงถึงไร่ละ 50,000 บาท เลยทีเดียว แต่ถ้านำมาคั้นน้ำบรรจุขวด อ้อยหนึ่งลำจะคั้นน้ำได้ 3-4 ขวด (ขวดขนาด 350 ซีซี) ขายราคาขวดละ 10 บาท ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ถึง 150,000-200,000 เลยทีเดียว นับว่า อ้อยคั้นน้ำเป็นอีกพืชทางเลือกที่จะส่งผลตอบแทนให้เกษตรกรได้ดีเลยทีเดียว....





พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่ผู้เขียนจะแนะนำนั้นคือพันธุ์ สุพรรณบุรี 50 จะมีลักษณะใบสีเขียวเข้ม ลำขนาดใหญ่ สีเขียวอมเหลือง ปล้องยาว ให้ผลผลิตต่อกอ 5-6 ลำ ไว้ตอได้ 3-4 ครั้ง ต้านทานต่อโรคลำต้นเน่าแดง อายุการเก็บเกี่ยวที่ 8 เดือน ให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 4,600-5,200 ลิตร มีค่าความหวานอยู่ที่ 15-17 องศาบริกซ์ เหมาะสำหรับปลูกทั้งในที่ลุ่มและที่ดอน..นับว่าเป็นสายพันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่ทนต่อทุกสภาพพื้นที่ ทนต่อโรค ให้ปริมาณน้ำอ้อยเยอะ ให้ความหวานสูง ปลูกครั้งเดียวไว้ตอได้ 3-4 ครั้ง ทำให้ลดต้นทุนในการปลูกได้มาก ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น.....




การปลูกอ้อยคั้นน้ำนั้นเราจะต้องมีการเตรียมดินก่อน...

การเตรียมดิน




- ในสภาพที่ลุ่ม ต้องขุดเป็นรองหรือยกร่อง โดยมีสันร่องกว้าง 5-6 เมตร ความยาวร่องตามขนาดพื้นที่ และให้มีคูน้ำรอบแปลงลึกประมาณ 1 เมตร ในสภาพที่ดอน เป็นการปลูกในพื้นที่ราบจึงควรมีการปรับระดับพื้นที่ให้มีความลาดเอียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์

- ถ้าดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ควรหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ

- ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 30-50 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผาลเจ็ด 1-2 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหล ของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง

- ในสภาพที่ลุ่ม ให้ทำร่องปลูกตามแนวขวางบนสันร่อง ระยะระหว่างร่อง 0.75-1.0 เมตร ในสภาพที่ดอน ให้ยกร่อง ระยะระหว่างร่อง 1.2-1.5 เมตร

การเตรียมท่อนพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ



- ใช้ท่อนพันธุ์อายุ 6-8 เดือน จากแหล่งและแปลงที่ไม่มีโรคลำต้นเน่าแดงระบาด หรือจัดทำแปลงพันธุ์ไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเตรียมแปลงพันธุ์ 1 ไร่ สำหรับแปลงปลูก 10 ไร่

- ใช้มีตัดลำอ้อยชิดโคน และตัดยอดอ้อยต่ำกว่าคอใบสุดท้ายที่คลี่แล้วประมาณ 20 เซนติเมตร ลอกกาบใบ ตัดอ้อยเป็นท่อน จำนวน 3 ตาต่อท่อน แล้วนำไปปลูกทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 7 วัน

- ตรวจแปลงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการระบาดของโรคลำต้นเน่าแดง ต้องขุดกออ้อยออก เผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที


วิธีการปลูกอ้อยคั้นน้ำ




- ปลูกเป็นแถวเดี่ยวทั้งในแปลงพันธุ์และแปลงปลูก

- วางท่อนพันธุ์ในร่อง ให้มีระยะระหว่างท่อน 50 เซนติเมตร

- กลบดินให้สม่ำเสมอ หนา 3-5 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และหนา 1-2 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์สิงคโปร์

การให้ปุ๋ยอ้อยคั้นน้ำ

- ให้ปุ๋ยเคมีหลังปลูก หรือหลังแต่งตออ้อย 2 ครั้ง

ดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือ ดินเหนียว ให้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 ครั้งแรกเมื่ออายุ 1 เดือน อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่สองเมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่

ดินร่วนปนทราย ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ครั้งแรกพร้อมปลูก อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่สองเมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

- ในอ้อยปลูก ให้ปุ๋ยแบบโรยเป็นแถวข้างกออ้อยแล้วพรวนกลบ ในอ้อยตอ ให้ฝังกลบปุ๋ยห่างจากกออ้อย 10-15 เซนติเมตร


การให้น้ำสำหรับอ้อยคั้นน้ำ




- ให้น้ำทันทีหลังปลูก เพื่อให้อ้อยงอกสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้น้ำทุก 2-3 สัปดาห์

ในสภาพที่ลุ่ม ให้น้ำโดยการตักน้ำสาดหรือใช้เครื่องสูบน้ำวางลงในเรือขนาดเล็ก สูบน้ำจากร่อง

ในสภาพที่ดอน ให้น้ำประมาณครึ่งร่อง โดยไม่ต้องระบายน้ำออก

- งดให้น้ำ 2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยว ถ้าในช่วงเก็บเกี่ยวมีฝนตกหนัก ต้องระบายน้ำออกจากร่องทันทีให้เหลือไม่เกินครึ่งร่อง

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

- เก็บเกี่ยวอ้อยที่อายุประมาณ 8 เดือน

- น้ำอ้อยมีความหวาน 13-17 องศาบริกซ์

- ลำอ้อยมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร

- ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเข้าหรือเย็น ขณะที่อากาศไม่ร้อนจัด

วิธีการเก็บเกี่ยวอ้อยคั้นน้ำ


- ตัดเฉพาะลำอ้อยที่มีอายุ 8 เดือน สังเกตได้คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 จะมีลำสีเขียวอมเหลือง สำหรับพันธุ์สิงคโปร์ จะมีสีเหลืองเข้ม

- ใช้มีดถากใบและกาบออกทั้งสองด้าน อย่าให้เปลือกหรือลำเสียหาย ตัดลำอ้อยชิดดิน แล้วตัดยอดอ้อยต่ำกว่าจุดคอใบประมาณ 25 เซนติเมตร วางบนแคร่หรือพื้นที่สะอาด ห้ามวางบนพื้นดินใช้ยอดอ้อยหรือเชือกฟางมัดโคนและปลายลำอ้อย มัดละ 10 ลำ แล้วใส่รถบรรทุกนำส่งให้ลูกค้าทันที หรือนำไปไว้ในที่ร่มเพื่อเตรียมจัดส่ง 



ข้อมูลเพิ่มเติม :คลิก

แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ (เลื่อนลงด้านล่าง)


















ขอบคุณที่มาของข้อมูลต่าง ๆ ไว้ ณ ที่นี้

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น