Container Icon

การปลูกเตยหอม ครั้งเดียวระยะยาวนับ 10 ปี

การปลูกเตยหอม

             เตยหอม พืชที่ไม่ได้มีเฉพาะความหอมเท่านั้น แต่มาพร้อมสีเขียวตามธรรมชาติเหมาะสำหรับเพิ่มสีสันให้อาหาร อีกทั้งน้ำเตยหอมยังมีสรรพคุณบำรุงหัวใจด้วย
             พบว่าชาวชนบทส่วนใหญ่มีการปลูกเตยหอมไว้ตามครัวเรือนจำนวนมาก สำหรับประกอบอาหารในครัวเรือน เช่น เพิ่มความหอมของขนมหวาน หรือนำใบเตยมาตำให้ละเอียดและบีบน้ำ จะได้สีเขียวของใบเตยและมีกลิ่นหอมด้วย ที่พบบ่อย ๆ คือ ขนมชั้นและวุ้น นอกจากนี้ มีการนำใบเตยกำใหญ่ ๆ ใส่ไว้ในรถเพื่อขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์
            เตยหอมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus amaryllifolius Roxb. วงศ์ Pandanaceae ชื่อสามัญ Pandanus Palm, Fragrant Pandan, Pandom wangi. ชื่ออื่น ๆ เช่น ปาแนะวองิง (มาเลเซีย-นราธิวาส)ใบส้มม่า (ระนอง) ส้มตะเลงเครง (ตาก) ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), ส้มพอดี ผักเก็งเค็ง (ภาคเหนือ)
           ใบเตยประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย และมีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยประกอบไปด้วยสารหลายชนิด เช่น ไลนาลิลอะซีเตท (Linalyl acetate) เบนซิลอะซีเตท (Benzyl acetate) ไลนาโลออล (Linalool) และเจอรานิออล (Geraniol) และสารที่ทำให้มีกลิ่นหอมคือ คูมาริน (Coumarin) และเอทิลวานิลลิน (Ethyl vanillin)

            “เตย” เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวลักษณะแตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ ใบออกเป็นพุ่มบริเวณปลายยอด เมื่อโตจะมีรากค้ำจุนช่วยพยุงลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด
            ลักษณะใบยาวเรียวคล้ายใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมัน เส้นกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง ถ้าดูด้านท้องใบจะเห็นเป็นรูปคล้ายกระดูกงูเรือ ใบมีกลิ่นหอม
            สำหรับส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือ ต้น ราก และใบสด “ต้น” และ “ราก” ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระษัย “ใบสด” ตำพอกโรคผิวหนัง รักษาโรคหืด น้ำใบเตย ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ใบสดไม่จำกัดผสมในอาหาร ทำให้อาหารมีรสเย็นหอม รับประทานแล้วทำให้หัวใจชุ่มชื่น หรือเอาใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง ใช้ผสมอาหาร แต่งกลิ่น ให้สีเขียวแต่งสีขนม

การทำน้ำใบเตย


1.นำใบเตยสดล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเท่าข้อนิ้วมือ จากนั้นนำใบที่หั่นไปปั่นโดยใส่น้ำตามไปด้วย ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ
2.นำใบเตยที่ปั่นแล้วมากรองเอาแต่น้ำ
3.นำน้ำใบเตยที่กรองแล้วมาต้มและผสมเครื่องปรุง โดยใส่เกลือ 1 ช้อนชา น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ จากนั้นคนให้เข้ากัน เก็บใส่ภาชนะไว้ดื่มดับกระหาย คลายร้อน

เคล็ดลับการปลูกเตยหอม


              เตย เป็นพืชครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่งที่มีใบสีเขียวยาว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ปลูก ใบเตยจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ใดก็ได้ แต่ต้องมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการเติบโตของต้นเตยได้ ส่วนใหญ่ต้องปลูกตามชายน้ำ
             เตยหอมเป็นพืชที่หลาย ๆ ท่านมองข้าม ทั้ง ๆ ที่ใบเตยนั้นมีราคาและคุณประโยชน์มากมายเลยทีเดียว วิธีการปลูกและการดูแลแสนจะง่าย ขายราคาก็สูง แถมเป็นพืชที่ตลาดต้องการไม่น้อยกว่าพืชชนิดอื่น ๆ
              การปลูกต้นเตยนั้นไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่กว้างมาก นอกเสียจากว่าเราต้องการปลูกเพื่อการค้า ก็สามารถทำได้ เพียงให้ใกล้แหล่งน้ำเท่านั้น เมื่อเตรียมพื้นที่ได้แล้วก็ต้องเลือกต้นมาลงปลูก วิธีการเลือกต้นเพื่อนำมาลงปลูกนั้นควรเป็นต้นที่มีลักษณะมีเหง้าและรากที่สมบูรณ์ สูงประมาณ 8-10 นิ้ว
              การปลูกเตยหอมจะต้องมีพื้นที่เพาะปลูก ต้องใกล้น้ำค่อนข้างแฉะ มีน้ำหมุนเวียนตลอดปี มีร่มเงารำไรให้ต้นเตยไม่โดนแสงแดดโดยตรง หรือตามร่องสวน ตามชายบ่อน้ำ
             ส่วนการปลูกในพื้นนา มีการเตรียมดินคล้ายกับการทำนา แต่ทำเพียงครั้งเดียว ก่อนปลูกเพื่อให้พื้นที่เรียบ ระบบน้ำดูแลง่าย ส่วนทางเดินเข้าเก็บเกี่ยวเตยหอมขึ้นอยู่ตามความสะดวกสบายที่ผู้ปลูกต้องจัดการและวางแผนเองตามความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกและขนาดพื้นที่
              ก่อนปลูกต้องใช้ตาข่ายขึงพรางแสง ความโปร่งแสง 60% เหนือบริเวณที่ปลูก โดยทำเป็นโรงเรือน แต่อย่าให้ร่มเกินไป จะเป็นการทำให้ต้นไม้โตช้า ใบสั้น และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นต้องเปิดน้ำเข้าแปลง สูงประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 15 เซนติเมตร เตรียมต้นพันธุ์เตยหอมที่แข็งแรงที่มีรากปักลงในแปลง โดยทำเหมือนการดำนา ดูแลระบบถ่ายเทน้ำ ดูแลไม่ให้ต้นที่ปักดำลอยขึ้นมา ทิ้งไว้ 1-2 เดือน จึงเพิ่มปริมาณน้ำขึ้น
            หลังจากปลูก 6-7 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวได้ การเก็บเกี่ยวใช้มีดตัดยอด อย่าเสียดายยอด การตัดยอด 1 ยอด ทำให้เกิดยอดใหม่มากมาย โดยเฉลี่ยตัดไป 1 ยอด จะได้ยอดใหม่ 3-5 ยอด
จะเห็นได้ว่า “เตยหอม” พืชสารพัดประโยชน์ ปลูกง่าย ขายดี เจริญเติบโตดี โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม :





















0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น