Container Icon

กุ่มน้ำ และกุ่มบก

กุ่มน้ําและกุ่มบก

            กุ่มน้ำจะมีสรรพคุณสูงกว่ากุ่มบกนิดหนึ่ง แต่สวรรค์ช่างสรรสร้างพืชอาหารไว้เป็นยาธรรมชาติให้มนุษย์อย่างมากมาย คนสมัยโบราณเรียนรู้มาทำเป็นอาหารได้อย่างเหลือเชื่อ..
กุ่มน้ำ ชื่อสามัญ Crataeva กุ่มน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Crataeva magna (Lour.) DC.[1] หรือ Crateva religiosa Ham.[2] หรือ Crateva religiosa G.Forst.[7]จัดอยู่ในวงศ์ CAPPARACEAE เช่นเดียวกับกุ่มบก และผักเสี้ยนผี

สมุนไพรกุ่มน้ำ ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกเช่น เหาะเถาะ (กาญจนบุรี), อำเภอ (สุพรรณบุรี, ภาคตะวันตกเฉียงใต้), ผักกุ่ม ก่าม ผักก่าม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), รอถะ (ละว้า-เชียงใหม่, ภาคเหนือ), กุ่มน้ำ (ภาคกลาง), ด่อด้า (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกุ่มน้ำ
ต้นกุ่มน้ำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-20 เมตร[1] เปลือกต้นค่อนข้างเรียบมีสีเทา จะผลัดใบร่วงหมดทั้งต้นเมื่อออกดอก มักพบได้ตามริมแม่น้ำ ข้างลำธาร หรือที่ชื้นฉะ ในป่าเบญจพรรณ[2] หรือพบได้ตามริมน้ำลำธารในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ ที่มีความสูงระดับ 30-700 เมตรกุ่มน้ำ[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง[6]

ใบกุ่มน้ำ มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ แผ่นใบค่อนข้างหนาสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างใบมีสีอ่อนกว่าด้านบน มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบมีความประมาณ 4-14 เซนติเมตร หูใบเล็ก ร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปใบหอกหรือขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-18 เซนติเมตร ปลายค่อยๆ เรียวแหลม มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยไม่มีก้าน หรือถ้ามีก็ยาวไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ใบกุ่มน้ำมีเส้นแขนงของใบข้างละประมาณ 9-20 เส้น และอาจมีถึงข้างละ 22 เส้น เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัดจากด้านล่าง เมื่อใบแห้งจะมีสีค่อนข้างแดง[1]


                 ดอกกุ่มน้ำ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะถี่ ออกตามยอด หนึ่งช่อมีดอกหายดอก ก้านดอกยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร กลีบดอกกุ่มน้ำมีสีขาว แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบมีลักษณะค่อนข้างกลมถึงรี มีความกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านชูอับเรณูจะมีความประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร และอับเรณูจะยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และก้านชูเกสรตัวเมียจะยาวประมาณ 3.5-8 เซนติเมตร ดอกมีรังไข่เป็นรูปรีหรือรูปทรงกระบอก มีอยู่ 1 ช่อง[1] มักออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[2]

                    ลูกกุ่มน้ำ หรือ ผลกุ่มน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี มีเปลือกหนา ผลหรือเปลือกผลมีสีนวลหรือสีเหลืองอมเทา เมื่อสุกจะเป็นสีเทา ผลแก่ผิวจะเรียบ ผลกว้างประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ก้านหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ด้านในผลมีเมล็ดมาก[1]
เมล็ดกุ่มน้ำ มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีขนาดกว้างและยาวเท่าๆ กันคือประมาณ 6-9 มิลลิเมตร และเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม[1]

สรรพคุณของกุ่มน้ำ
เปลือกต้น ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
แก่น ใช้ต้มกับน้ำดื่ม สรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง (แก่น)[2]
รากและเปลือกต้นกุ่มน้ำ สรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีได้[6]
รากใช้แช่น้ำกิน เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก,ใบ)[2]
สรรพคุณสมุนไพรกุ่มน้ำ ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[2],[4]
ช่วยแก้กษัย แก้ในกองลม หรือต้มเป็นยาตัดลมในลำไส้ (เปลือกต้น)[2]
กุ่มน้ํา สรรพคุณช่วยแก้ลมขึ้นเบื้องสูง (ใบ)[2]
สรรพคุณกุ่มน้ำ ช่วยแก้ไข้[1] (ผล,ใบ)[2] (เปลือกต้น)[2],[5]
เปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยแก้อาเจียน (เปลือกต้น)[2],[4]
ดอกกุ่มบก มีรสเย็นสรรพคุณช่วยแก้อาการเจ็บในตา (ดอก)[2]
ช่วยแก้ลมทำให้เรอ (เปลือกต้น)[2]
ใบ มีรสหอมขม สรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (ใบ[1],[2], เปลือกต้น[2])
ช่วยแก้อาการเจ็บตา (ดอก)[1]
ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ (ดอก)[1],[2]
ช่วยแก้อาการสะอึก (ใบ)[1],[2] หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน ใช้ต้มเป็นน้ำดื่มแก้อาการก็ได้ (เปลือกต้น)[2]
สรรพคุณกุ่มน้ํา รากช่วยแก้อาการปวดท้อง (ราก)[3]
เปลือกต้นมีรสขมหอม สรรพคุณช่วยขับผายลม หรือใช้เป็นยาขับลม ด้วยการใช้เปลือกต้นกุ่มน้ำผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม (เปลือกต้น,ใบ)[2]
ใบกุ่มน้ำ สรรพคุณใช้เป็นยาระบาย (ใบ[2],[4], เปลือกต้น[5])
กุ่มน้ํา สรรพคุณช่วยขับพยาธิ (ใบ[2], เปลือกต้น[5])
ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ[1], กระพี้[2])
ช่วยแก้ริดสีดวงผอมแห้ง (เปลือกต้น)[2]
แก่นมีรสร้อน สรรพคุณช่วยแก้นิ่ว (แก่น)[1],[2]
ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[2]
ช่วยขับน้ำดี (เปลือกต้น)[2]
ช่วยขับน้ำเหลืองเสียในร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
กุ่มน้ำ สรรพคุณของรากช่วยขับหนอง (ราก)[1]
เปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยระงับพิษที่ผิวหนัง (เปลือกต้น)[2],[5]
ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว (ดอก)[2]
ช่วยแก้อาการปวดเส้น (ใบ)[2]
แก่นกุ่มบก ใช้ต้มดื่มช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (แก่น)[2]
เปลือกต้น ใช้ทำเป็นยาลูกกลอน สรรพคุณช่วยแก้อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ (เปลือกต้น)[2]
ใบกุ่มน้ำ สรรพคุณแก้โรคไขข้ออักเสบ แก้อัมพาต (ใบ)[2]
ใบใช้เป็นยาทาภายนอกเป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงให้ทั่วบริเวณที่นวด (ใบ)[7]
คำแนะนำในการใช้สมุนไพรกุ่มน้ำ
กุ่มน้ํา กิ่งและใบมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์เป็นพิษ ไม่ควรใช้รับประทานสดๆ แต่ควรทำให้สุกก่อน ด้วยการนำมาดองหรือต้มเพื่อกำจัดพิษก่อนนำมารับประทาน[2]
ใบแก่มีพิษ มีฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้อาเจียน มึนงง ไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปรี้ย กระตุก ชักก่อนจะหมดสติ หากได้รับในปริมาณมาก อาจเกิดอาการรุนแรงได้ภายใน 10-15 นาที แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณเล็กน้อยจะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย[6]

ประโยชน์กุ่มน้ำ
ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานได้ ด้วยการนำมาดองน้ำเกลือตากแดด ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วค่อยนำไปปรุงเป็นอาหาร ด้วยวิธีการแกงหรือการผัดก็ได้[2] หรือจะใช้ดอกและใบอ่อนนำไปดองหรือต้มใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก[5] หรือจะไปปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำอ่อม คล้ายกับแกงขี้เหล็กก็ได้[6]
เนื่องจากใบและดอกกุ่มน้ำมีความสวย จึงสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ โดยเหมาะสำหรับบ้านเรือนที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง และทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี[5]
ต้นกุ่มน้ำ เป็นไม้โตเร็ว มีรากลึกและแผ่กว้าง เหมาะสำหรับปลูกไว้ตามริมตลิ่งชายน้ำในแนวสูงกว่าระดับน้ำปกติในช่วงฤดูฝน หรือปลูกไว้ตามริมห้วยในพื้นที่ต้นน้ำ ของแม่น้ำสายหลัก จะสามารถช่วยลดการกัดเซาะริมตลิ่งได้เป็นอย่างดี และยังทนทานต่อน้ำท่วมขังอีกด้วย[6]
นอกจากปลูกต้นกุ่มไว้รับประทานเป็นอาหารและใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ต้นกุ่มยังจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันในอดีต ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนชื่อของต้นกุ่ม[3]
ไม้กุ่มน้ำ เป็นไม้เนื้ออ่อน จึงสามารถนำมาใช้ในงานแกะสลักต่างๆ ได้ เช่น เครื่องดนตรี เป็นต้น[6]
ประโยชน์ของกุ่มน้ำ ลำต้นกุ่มน้ำ สามารถนำมาใช้ทำเป็นไหข้าวได้ (คนเมือง)[7]
คุณค่าทางโภชนาการของผักกุ่มดอง ต่อ 100 กรัม
พลังงาน 88 กิโลแคลอรี่
คาร์โบไฮเดรต 15.7 กรัม
โปรตีน 3.4 กรัม
เส้นใย 4.9 กรัม
ไขมัน 1.3 กรัม
น้ำ 73.4 กรัม
วิตามินเอ 6,083 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.08 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.25 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.5 มิลลิกรัม
วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 124 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 5.3 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม

ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. 48 หน้า.[8]

อ้างอิงข้อมูล :คลิกที่นี่

วิธีทำผักกุมดอง :สูตรดองผักกุ่ม

การปลูกขจร ดอกสลิต

การปลูกขจร หรือ ดอกสลิดพันธุ์เกษตร

ชื่อพื้นเมือง      :  ขจร
                         ชื่ออื่น                     :  สลิด
                         ชื่อวิทยาศาสตร์         :  Telosma minor Craib
                         ชื่อวงศ์                    :  ASCLEPIADACEAE
                         ชื่อสามัญ                 :  Milkweed  Family
                         ลักษณะวิสัย             :  ไม้เลื้อย
                         การขยายพันธุ์           :  เพาะเมล็ด  ปักชำ
                         ประโยชน์                 :   ราก   ใช้ผสมยาหยอดตา   
                                                          ดอก   นำไปประกอบอาหาร 
                                                          ใบ    ใช้ทำยาฆ่าแมลง , ใช้ทำกระดาษ (สูตรพิเศษของวชิราโปลี)


ลักษณะพิเศษ
          ขจรเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับโมก และยี่โถ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน พบมากในภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือ  นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและใช้ประโยชน์จากดอกและผล ดอกออกดกในฤดูฝน มีลักษณะเป็นช่อ สีเหลือง ช่อละ 10-20 ดอก ขนาดดอกประมาณ 5-8 เซนติเมตร ด้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกย่อยมีใบประดับเส้นเล็กๆ ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร  1 คู่ ลักษณะของใบ เป็น      สีเขียวอ่อน คล้ายรูปหัวใจ ใบโพ หรือคล้ายใบพลู ขอบใบจะเรียบเกลี้ยงไม่มีหยัก จะเห็นเส้นใบชัด หน้าใบเป็นคลื่นเล็ก ลักษณะของลำต้น เป็นไม้เลื้อยเถา มีเนื้อไม้ ไม่มีมือเกาะเปลือกมีลักษณะเรียบ ลักษณะผลและเมล็ด  ผลมีลักษณะรูปยาวรี โค้งเล็กน้อย  กว้างประมาณ 1.5 -2.5 เซนติเมตร
ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดเล็กแบน มีเส้นขนคล้ายไหมสีขาว เป็นพู่ที่ขั้วเมล็ด  ช่วยพยุงเมล็ดให้ลอยตามลม ปัจจุบันประชากรนิยมปลูกขจร เพราะดอกมีกลิ่นหอม  ดอกกับผลสามารถนำไปรับประทานเป็นผักจิ้มและเครื่องเคียงอาหารประเภทแกง  และยำ  ราคาค่อนข้างแพง

การปลูกและดูแลรักษา
      ขจรเป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินทุกสภาพ แต่ถ้าจะให้ดีควรปลูกในดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีความร่วนซุยมากๆ ขจรเป็นไม้ที่ชอบแดดจัดไม่ต้องการน้ำมากนัก และทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี ดังนั้นการรดน้ำให้รด 2 วันต่อครั้ง

สรรพคุณทางยา
       ยอดอ่อน ดอก ลูกอ่อน บำรุงธาตุ บำรุงตับ ปอด แก้เสมหะเป็นพิษ ราก ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา

ประโยชน์ทางอาหาร
      ยอดอ่อน ดอก ผลอ่อน รับประทานสดหรือลวกให้สุกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ดอกนำไป
      ปรุงอาหาร เช่น ผัด แกงจืด แกงส้ม

ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร
     ยอดอ่อน ดอกตูมและบาน ผลอ่อน
     ยอดอ่อนและดอกขจรในปริมาณ 100 กรัม มีวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ คือวิตามินเอ มากถึง
        3,150 I.U. วิตามินซี 45 มิลลิกรัม แคลเซียม 70 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม

ขจรพืชพื้นบ้านไม่ควรมองข้าม ปลูกพื้นที่1ไร่รายได้วันละ 3 พัน
          จากเดิมที่ บุญทัน วงศ์โพธิ์ หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ใช้พื้นที่กว่า 15 ไร่ ปลูกมันสำปะหลังและทำนาข้าวที่บ้านหม้อ ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น แต่ชีวิตอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ มีกินมีใช้ไปวันๆ แต่หลังจากที่หันมาปลูก "ขจร" หรือสลิดขายดอก ได้เพียง 2 ปี ฐานะความเป็นอยู่พลิกราวฟ้ากับดิน เพราะรายได้จากการขายดอกขจรหรือดอกสลิดนั้น ตกวันละ 3,000 บาท เช่นเดียวกับ หนูอาจ เฝ้าหอม เกษตรกรวัย 56 ปี เพิ่งปลูกขจรในพื้นที่ 1 ไร่เช่นกัน ในช่วงที่ขจรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ก็ปลูกกวางตุ้งใต้ห้างแปลงขจร ทำให้มีรายวันละ 3,500 บาท

            บุญทัน บอกว่า ก่อนที่จะยึดอาชีพปลูกขจรเพื่อเก็บดอกขายนั้น เคยทำไร่มันสำปะหลังมาก่อนในพื้นที่ 10 ไร่ และทำนาข้าวไว้กินเองอีก 5 ไร่ แต่รายได้ไม่ค่อยเพียงพอ เนื่องจากราคาผลผลิตมันสำปะหลังตกต่ำมาตลอด พอดีเห็นเพื่อนที่อยู่ต่างอำเภอ ปลูกขจรหรือสลิดเพื่อขายดอก มีรายได้ดี จึงปรึกษาหารือกันและเรียนรู้ในการปลูกและดูแลต้นจขร จากนั้นตัดสินใจสร้างห้างทำด้วยไม้ไผ่สูงกว่า 1 เมตร ขนาดกว้างของห้างราว 1 เมตร แล้วไปซื้อต้นกล้าขจรพันธุ์ดอกจากภาคกลางจำนวน 400 ต้นในราคาต้นละ 50 บาท เมื่อ 2 ปีก่อน

          หลังจากที่ปลุกขจรได้ 3 เดือน ขจรเริ่มออกดอกเก็บได้วันละ 10-20 กิโลกรัม นำไปขายเองในเมืองขอนแก่นในราคากิโลกรัมละ 100 บาท พอขจรมีอายุ 6 เดือนซึ่งให้ดอกเต็มที่สามารถเก็บดอกขายได้วันละ 40-50 กิโลกรัมขายส่งให้พ่อค้าในตลาดบางลำภู เทศบาลนครขอนแก่นในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท พ่อค้าที่รับซื้อขายต่อในราคากิโลกรัมละ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีการขยายต้นกล้าขจรขายอีกด้วย และขณะนี้กำลังจะขยายพื้นที่ปลูกอีก 2 งาน

         "การปลูกขจรเพื่อขายดอกนั้นรายได้ดีมาก แต่ต้องมีเงินในการลงทุนครั้งแรกที่ต้องลงทุนสร้างห้างเพื่อให้ขจรเลื้อย และค่าต้นกล้าซึ่งตอนนี้ราคายังสูงอยู่ ซึ่งต้องลงทุนหลายหมื่นบาท แต่พอปลูกแล้วแต่ละรุ่นเรา                   สามารถเก็บดอกขายได้ทุกวันนานถึง 4 ปี ผมยังมีที่อีกหลายไร่จะขยายไม่ได้เพราะไม่มีคนดูแล เพราะการปลูกขจรต้องดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวันกรณีฝนไม่ตก การเก็บดอกต้องเก็บทุกวันแบ่งกันเป็น 3 ล็อก วันแรกเก็บล็อกที่ 1 พอวันรุ่งขึ้นเก็บล็อกที่ 2 แล้ววันถัดก็เก็บล็อกที่ 3 หมดแล้วย้อนกลับล็อกที่ 1 อีก" บุณทัน กล่าว   

         ด้าน หนูอาจ เฝ้าหอม ซึ่งปลูกขจรอยู่ใกล้กัน บอกว่า เห็นบุญทัน ปลูกขจรมีรายได้ดี แต่ช่วงแรกมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถหาต้นกล้าได้ จนบุญทัน ยอมขายต้นกล้าจึงซื้อต้นกล้ามา 260 ต้น พร้อมขยายพันธุ์ต้นกล้าเองด้วย ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พอปลูกได้ 3 เดือนขจรเริ่มให้ผลผลิตเก็บดอกขายได้แล้ว ตอนนี้สามารถเก็บได้วันละเฉลี่ย 30 กิโลกรัม มีพ่อค้ามาซื้อในราคากิโลกรัมละ 70 บาท
            "ตอนที่ปลูกขจรใหม่ๆ ซึ่งขจรยังไม่ออกดอก ป้าเอากวางตุ้งมาปลูกใต้ห้างของแปลงขจร เพราะต้นขจรยังเล็กยังไม่มีรายได้ ตอนต้นขจรยังโตไม่เต็มที่ หรือไม่เต็มห้าง ป้าก็ยังปลูกกวางตุ้งอยู่ ทำให้มีรายได้ 2 ทาง คือในส่วนของขจรจะขายได้วันละ 2,000 บาท ส่วนกวางตุ้งได้ราว 1,500 บาท" หนูอาจ กล่าว
             สำหรับการปลูกของหนูอาจ จะใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น เพื่อประหยัดต้น และเป็นการผลิตพืชผักปลอดสารพิษตามนโยบายของนายอำเภอซำสูง ที่จะให้อำเภอซำสูงเป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษป้อนตลาด โดยให้แปลงปลูกขจรทั้งสองแปลงเป็นศูนย์เรียนด้านการเกษตรบ้านหม้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอบ้านหม้อนั่นเอง
            ขจรนับเป็นพืชผักพื้นบ้านชนิดที่น่าจะจัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจตัวใหม่อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสร้างรายให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ ขนาดปลูกในพื้นที่ 1 ไร่มีรายได้ถึงเดือนละ 9 หมื่นบาท ขณะที่ตลาดยังต้องการอีกมาก   

ชมคลิปแนะนำ